naiHua

สังขละบุรี สะพานมอญ ขอพรหลวงพ่ออุตตมะ

สังขละบุรี

สังขละบุรี

สังขละบุรี สะพานมอญ กาญจนบุรี หลวงพ่ออุตตมะ

สังขละบุรี ใครได้ยินชื่อนี้ ก็คงนึกถึงสะพานไม้ ท่ามกลางไอหมอก ที่เย็นฉ่ำ แต่สำหรับทริปนี้
คงมีเพียงแต่ทุ่งหญ้าที่เย็นตา สายน้ำที่เย็นกาย กับสายไยแห่งมิตรภาพเท่านั้น

ตี 5 ของวันที่ 30 เมษายน เราออกเดินทางจากหมอชิต โดยรถ บขส กรุงเทพฯ-ด่านเจดีย์สามองค์
ค่ารถคนละ 293 บาท …2 ชั่วโมงถึง บขส กาญจนบุรี …..และอีก 4 ชั่วโมง สำหรับ สังขละบุรี

11 โมง เราถึงจุดจอดของ บขส. บริเวณตัวเมืองสังขละ และใช้บริการพี่วิน(มอไซค์) อีก 15 บาท
เพื่อไปยังสะพานมอญ

สายฝนเพียงแค่ทำให้ทุ่งหญ้าชุ่มฉ่ำ แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับแม่น้ำซองกาเรีย ที่ตื้นเขินในเวลานี้

หลังจากเดินข้ามสะพานมาฝั่งมอญ มื้อแรกของเราฝากไว้ที่ร้านป้า ยิน บริเวณหัวสะพานฝั่งมอญ

ขนมจีนหยวกกล้วยรสชาติมอญ พร้อมเส้น สด และใหม่จากเตา

และก็ไม่พลาดที่จะชิม ส้มตำฝีมือชาวมอญ รสชาติออกไปทางแนวหวานหน่อย

พร้อมด้วยกับข้าวอีกหลายอย่าง กินอิ่มก็ยังแอบสนใจข้าวหลามมอญ แต่ตอนนี้ท้องผมไม่มีที่เก็บเสียแล้วล่ะ

คืนนี้ที่พักของเรา คือ แพดอกบัว3 ราคาต่อคนต่อคืนละ 150 บาท เป็นแพที่อยู่ติดสะพานกันเลยล่ะ โทร 086-1686655

สอบถามน้องๆ แถวนี้ เค้าบอกว่าฝนมักจะตกตอนเย็นของทุกวัน ช่วงนี้เลยได้เห็นหญ้าสีเขียวสด ๆ

ช่วงเวลานี้ยังไม่มีนักท่องเที่ยว ทำให้บรรยากาศเหงาๆ แต่ดีที่มี “จั่นเจา” ลูกเจ้าของแพ
เลยทำให้คลายเหงาไปเยอะ

น้องเค้าช่างพูด แถมซนซะเหลือเกิน แต่น่ารักดีครับ ตามประสาเด็ก ๆ

จั่นเจา อยู่กับเราที่แพ จนถึงวันกลับเลยล่ะครับ เอาเป็นว่าจากแพที่เงียบสงบ กลายเป็นแพที่ครึกครื้นเลยล่ะ

พอใกล้เย็น ก็มีเพื่อนๆ กลุ่มใหญ่มาสมทบ จากครึกครื้น กลายเป็นวุ่นวายไปเลยล่ะครับ ปวดหัวไปหมด อิอิ

น้องคนนี้ตามพี่มาเล่นน้ำด้วย เจอผมทีไร ร้องไห้ขี้มูกโป่งทุกที เฮ้ออออออ!!!!!

พอเด็กๆ พากันกลับ …ผมก็เผลอหลับไป ตื่นมาอีกทีพระอาทิตย์จะตกซะแล้วว

จะวิ่งขึ้นไปชมวิว+ถ่ายรูปบนสะพานมอญ ก็คงไม่ทันซะแล้วล่ะ งั้นชมมันซะตรงแพที่พักนี่แหละ

กลางคืนฝนตก เย็นฉ่ำ ทำให้นอนสบาย อีกทั้งแพข้างๆ คอยร้องเพลงให้ฟัง(ไม่จบสักเพลง)
แต่หลับสบาย จริงๆ ครับ …

————————————————————————————————————-

วันที่ 1 พฤษภาคม 2554…

ลืมตาขึ้นมาผมจับกล้อง เดินตรงดิ่งไปที่หัวสะพานฝั่งมอญโดยทันที ..ทุกอย่างเตรียมพร้อมแล้วสำหรับการตักบาตรของเช้าวันนี้ (06.30 น.)

บริเวณถนนสะพานไม้ซอย4 (ต้นซอย) เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เข้าแถว รอตักบาตร

กลางซอย ก็จะมีชาวมอญที่คอยตักบาตรอยู่เช่นกัน แต่ต่างกันที่เค้ารออยู่เงียบๆ และเป็นระเบียบมาก

การแต่งกายแบบดั้งเดิมของชาวมอญ เป็นการแต่งกายที่เรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความสวยงาม
ของวัฒนธรรมที่มีมายาวนาน

ขนบธรรมเนียมแบบนี้ บ้านเรานับวันยิ่งหาดูได้ยาก แต่ทีนี่เค้าทำกันเป็นกิจวัตร นี่แหละถึงได้ดึงดูดให้
นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม

สังเกตุดีๆ ผมจะมีภาพคุณยายท่านนี้เยอะเป็นพิเศษ

ท่านยิ้มน่ารักมาก ผมเดินเข้าไปขอถ่ายภาพ ผมยังพูดไม่จบ ท่านก็ยิ้มและพยักหน้า

ท่านไม่ได้พยักหน้าอนุญาตนะครับ แต่ท่านฟังภาษาไทยไม่ออก คงจะยิ้มและพยักหน้าไว้ก่อนน่ะ

หลังจากกิจกรรมตักบาตรเสร็จสิ้น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะหาอะไรกินกันที่หัวสะพาน

สายลมและกลิ่นใบหญ้ายามเช้า ช่างสดชื่นจริงๆ ครับ แม้ยืนอยู่บนสะพานยังรับรู้ได้ถึงความสดชื่นนี้

ส่วน “จั่นเจา” กำลังทำหน้าที่ของเค้าอยู่ นั่นคือกระโดดสะพาน ( เห็นโม้ว่ากระโดดทุกวันเลยล่ะ)

พอเริ่มสายหน่อย ชาวมอญแถวนั้นก็เริ่มนำเรือออกจากโรงเก็บ
เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว ที่จะไปชมวัดจมน้ำ

เราเช่ามอไซค์หนึ่งคัน (300 บาท)
วันนี้เราจะไปกินข้าวเช้ากันที่บ้านชาวมอญท่านนึง ซึ่งเค้ารักและเอ็นดูเพื่อนผม เหมือนลูก

พูดได้คำเดียวว่า แตกต่างครับ ชาวมอญบริเวณนี้แตกต่างกับ ชาวมอญ บริเวณสะพานอย่างสิ้นเชิง
เค้าอยู่กันแบบสงบ และสมถะมากๆ

ผมไม่กล้าถ่ายภาพเท่าไหร่นัก เพราะทุกสายตาจ้องมองมาที่ผมหมด เพื่อนบอกว่า
เค้าแปลกใจที่มีนักท่องเที่ยวมาเดินถ่ายภาพถึงที่นี่ เพราะส่วนใหญ่ จะอยู่บริเวณสะพานไม้ เท่านั้น

บ้านเกือบทุกหลัง เป็นไม้ไผ่ ฝาบ้านสานแบบดั้งเดิม คงมีเพียงหลังคาเท่านั้นที่ค่อยๆ
ทะยอยเปลี่ยนเป็นสังกะสี

เห็นแล้วคิดถึงตอนเด็กๆ บ้านผมก็เป็นแบบนี้ กว่าจะได้มาสักแผ่น นั่งทุบนั่งสานไม้ไผ่กันเหนื่อยมาก

ผมเดินถ่ายภาพบริเวณสองข้างทางถนนเท่านั้น เพราะเพื่อนๆ รอทานข้าวอยู่

มาแล้วครับ “น้ำพริกมะม่วง” รสชาติเปรี้ยวจี๊ด อาหารที่นี่จะมีลักษณะคล้ายอาหารใต้
เพียงแต่อาหารใต้จะมีรสชาติที่เผ็ดกว่า
เมนูเด็ดผมเลยล่ะ

มีไข่เจียว เผื่อมีใครบางคนทานอาหารมอญไม่ได้ แต่สุดท้าย ทานได้ทุกคนครับ

“แกงกระเจี๊ยบ” เมนูโปรดของเพื่อนผม ทางใต้จะเรียกว่า “แกงส้มฝ้าย” รสชาติจะเปรี้ยว
และเผ็ดกว่าของชาวมอญ

“แกงหมูกระท้อน” เหมือนทางใต้เป๊ะ แหม๋ คิดถึงบ้านจริงๆ เลยเรา แหะ ๆ

“ลูกเนียง” อันนี้โดนใจผมเลยล่ะ นอกจากนั้นยังมี “ยอดเหรียง” อาหารเหมือนทางใต้ทั้งนั้น
เลยไม่มีปัญหาสำหรับผม อิอิ

เอาล่ะครับคงต้องขอตัวกันสักแป๊บ …..

และแล้วเมื่ออิ่ม พวกเราก็เผลอหลับไปแบบตั้งใจ….(อีกล่ะ )

ตื่นจากการนอนกลางวัน เราก็มุ่งหน้าไปวัดวังก์วิเวการาม หรือ วัดหลวงพ่ออุตตมะ
สถาปัตยกรรมของวัดนี้เป็นแบบพม่า

สถานที่บรรจุสังขารของหลวงพ่ออุตตมะ

ส่วนโบสถ์นี้คงเป็นโบสถ์ที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ เพราะลักษณะคล้ายๆ กับโบสถ์ทั่วไปของไทย

ฝั่งตรงข้าม เป็นวิหารพระหินอ่อน เพียงเดินเข้าไปก็จะรับรู้ได้ถึงความเย็นเลยล่ะครับ

โบสถ์นี้ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนกับงาช้างแมมมอธ

เสาโบสถ์ คานและฝ้า เป็นไม้ทั้งหมด ไม้สมัยก่อนนี่มันทนจริงๆ อ้าว พ้มลืมถ่ายงาช้างมอมมอธอ่ะ

ไหว้พระ รับประคำ กันเรียบร้อยแล้ว เดินทางกันต่อครับ เป้าหมายต่อไป เจดีย์พุทธคยา

ทางขึ้นเจดีย์ เค้ามีให้ตั้งเหรียญด้วยล่ะครับ ผมตั้งได้นะ แต่แป๊บเดียวก็ล้ม (T_T)

แต่รู้สึกจะครึ้มฟ้าครึ้มฝนซะแล้วละครับ เราเลยต้องถอยกลับไปชิวๆ ที่แพกันไปก่อน
วันนี้เมฆเยอะ เลยอดถ่ายพระอาทิตย์ตกที่สะพานเลย

———————————————————————————————

วันที่ 2 พฤษภาคม 2554

ตื่นเช้าอีกวัน เหมือนเคยครับ ตรงดิ่งไปหัวสะพานมอญ
พี่ลูกหาบเดินนำหน้าไปรออยู่ท้ายซอยคอยรวบรวมของบิณฑบาตร

สาว สาว สาวมอญ ยืนประชันความสวยระหว่างรอพระมาบิณฑบาตร

ส่วนแก๊งค์นี้ นั่งรอกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งนั่งเรียงกันตามตำแหน่งเดิมเหมือนเมื่อวานเลยล่ะครับ

เอ๊ะ !!! แต่เจ้าตัวเล็กนั่น เค้ามีปัญหาอะไรกับผมป่าวเนี่ย ท่าทางเอาเรื่องแฮะ

คุณยายมาพร้อมกับผ้าสีแสด ผมมองหาตามร้านไม่มีสีแบบนี้เลย ว่าจะซื้อสักผืน สีมันเข้าตามากๆ อิอิ

คุณยายอีกท่านรออยู่เป็นคนสุดท้าย ท่านนั่งรอแบบนี้ จนกว่าพระจะมาถึงเลยล่ะ

มื้อเช้าวันนี้เรากินขนมมอญรองท้อง หลังจากนั้นก็นั่งเรือไปชมวัดจมน้ำกันต่อเลยครับ

ช่วงนี้น้ำลด วัดไม่จมน้ำซะแล้วครับ ธรรมดาแล้วน้ำจะสูงประมาณชั้นสองของโบถส์นี้

ตอนเช้าที่นี่อากาศดีมากครับ อยู่กลางน้ำแบบนี้ เย็นทั้งลมเย็นทั้งไอน้ำ

วัดนี้เค้าว่ากันว่าเป็นวัดเก่าของหลวงพ่ออุตตมะ ก่อนจะย้ายหนีน้ำไปยัง วัดวังก์วิเวการาม

เสียดายจังครับโบราณสถานแบบนี้ ถ้าไม่โดนน้ำกัดเซาะ คงจะสวยงามมิใช่น้อย
เป็นเพราะเขื่อนของมนุษย์เราแท้ๆ

อยากจะถ่ายพระพุทธรูปข้างบน แต่ถ่ายไม่ถึงอ่ะครับ แต่มองฟ้าแบบมีขอบแบบนี้มันก็สวยดี

กลางโบสถ์มีเศียรพระพุทธรูปเก่า ให้กราบไหว้ด้วยครับ
ส่วนท่านใดต้องการทำบุญก็สามารถหยอดตู้บริจาคได้นะจ้ะ

แต่เพิงหลังคา น่าจะมีการทำใหม่ให้ดูแข็งแรงกว่านี้หน่อยเนาะ
จะได้คู่ควรกับวัดที่ได้ชื่อว่า Unseen Thailand

อุโบสถที่อยู่ด้านนอก ซึ่งเหลือเพียงโครงสร้างเท่านั้น
แต่ผนังด้านใน กลายเป็นที่ที่พวกมือบอนใช้ระบายความในใจ อื้มม…Unseen Thailand

โชคดีที่ผมมาเช้าคนน้อยมากครับ แดดเริ่มร้อนแล้ว คงต้องได้เวลากลับแล้วล่ะ

ใกล้ๆ วัดจมน้ำ จะมีแพที่พักชื่อว่า JYSK ดูสะอาดและสงบดีครับ(กลางคืน)
แต่กลางวันคงจะหนวกหูกับเสียงเรือที่พานักท่องเที่ยวมาชมวัด ไม่ใช่น้อย

บริเวณนี้เป็นบริเวณที่ผมขึ้น-ลงเรือไปวัดจมน้ำครับ อยู่ติดกับหมู่บ้านชาวมอญเลย

เพื่อนๆ กลับไปพักผ่อน ผมบึ่งมอไซค์ไปเรื่อยๆ จนมาถึงบริเวณสามแยกที่ทำการสายตรวจหนองลู
ไปเจอเนินนี้เข้าครับ รู้สึกคล้ายจะเป็นที่ปลูกผักอะไรสักอย่าง เลยลองเข้าไปดู

ทางเข้าอันตรายหน่อยครับสำหรับมอไซค์ ดินร่วนและลื่น หนำซ้ำทางชัน 75 องศาได้มั๊งครับ
ผมเองยังกลัวรถจะหงายหลังเลยอ่ะ อิอิ

ข้างบนนี้ปลูกยางพาราและผักครับ คุยกับพี่ที่หมู่บ้านชาวมอญ ได้ความว่า
เค้าบอกคนปักษ์ใต้มาซื้อไว้เพราะราคาถูก และจ้างชาวมอญคอยดูแล

แต่อีกฝั่งเป็นที่ของทางราชการ มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอยู่ ห้ามบุกรุก

หน้าหนาว ผมคาดว่าบริเวณนี้คงจะเห็นทะเลหมอกด้วยนะเนี่ยย

เอาล่ะครับ ไปเก็บภาพต่อที่ เจดีย์พุทธคยาต่อดีกว่าครับ

วันนี้มันร้อนได้ใจจริงๆ ขึ้นมาข้างบนแสงแดดสะท้อน แสบตากันเลยล่ะ

พื้นที่ทางเดินค่อนข้างแคบ แต่เจดีย์สูงและกว้าง หากใครจะไปถ่ายภาพแนะนำหาเลนส์ wide ๆ หน่อยนะ

เอ่อ ฝนสังขละบุรีนี่ มีอะไรกับผมป่าวเนี่ย ผมมาได้แป๊บเดียว เมฆครึ้มมาอีกแระ

สงสัยต้องมาแก้มือใหม่ หน้าหนาวซะแล้วล่ะมั๊งเนี่ย อิอิ

ขากลับเรากลับรถ บขส. เหมือนเคยครับ จองไว้เที่ยว 14.30 น.(รถ ป.1 เข้ากรุงเทพ มีเวลา 07.00 กับ 14.30 เบอร์โทรจองตั๋ว 081-7776546)
ขึ้นที่จุดจอดของ บขส. บริเวณตัวเมืองนั่นแหละครับ..
ขากลับรถค่อนข้างเสียเวลากับส่งผู้โดยสารรายทาง เลยถึงห้องซะ สี่ทุ่มเลยล่ะครับ..

ผมไปสังขละบุรี ครั้งแรกประทับใจมากกว่าที่คิดครับ น้ำใจของครอบครัวชาวมอญ
รับรู้ได้ทันทีเมื่อไปถึง ไม่รู้จะตอบแทนอย่างไร คงมีได้แต่คำว่า ขอบคุณจากใจครับ..

สังขละบุรียังมีอะไรอีกเยอะให้สัมผัส แค่ 3 วัน 2 คืน คงไม่พอ…เจอกันอีกทีตอนหน้าหนาวล่ะกันครับ…

ขอบคุณที่ติดตามกันเหมือนเคย
ขอบคุณมากมาย ขอบคุณอย่างแรง..
นายหัว

Exit mobile version